ปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญของประชาคมอาเซียน
1. ประเทศสมาชิกอาเซียน มีสภาพภูมิศาสตร์คล้ายคลึงกัน จึงมีสินค้าเกษตรหรือแร่ธาตุที่คล้ายคลึงกัน
บางครั้งจึงมีการแย่งตลาดกันเอง
และสินค้าส่วนใหญ่เป็นผลผลิตทางการเกษตรที่ยังไม่ได้แปรรูป ทำให้ราคาสินค้าตกต่ำ
นโยบายเขตการค้าเสรีในภูมิภาคนี้จึงดำเนินไปอย่างช้ามากจะแก้ไขปัญหานี้ได้จะต้องมีการแบ่งการผลิตตามความถนัดของแต่ละประเทศแล้วนำมาแลกเปลี่ยนกันจึงจะเกิดการรวมกลุ่มกันได้
แต่ถ้าต่างคนต่างผลิตโดยไม่มีการกำหนดมาตรฐานร่วมกันในการวางแผนการผลิตก็ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ในการรวมกลุ่ม
2. สินค้าอุตสาหกรรมในกลุ่มอาเซียนนั้นก็เป็นอุตสาหกรรมประเภทเดียวกัน แต่ละประเทศต่างก็มุ่งจะพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วตามแบบอย่างตะวันตก
จึงต้องมีการจัดซื้อเทคโนโลยีชั้นสูง
ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่พอจะผลิตสินค้าเทคโนโลยีได้ก็คือสิงคโปร์
แต่ประเทศสมาชิกก็เกี่ยงว่ายังไม่มีคุณภาพ
จึงจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาสินค้าจากประเทศอุตสาหกรรมนอกกลุ่มอาเซียน
ทำให้การค้าขายระหว่างกันในกลุ่มอาเซียนทำได้ยาก
วิธีการแก้ไขจะต้องมีการแบ่งงานกันทำและยอมรับสินค้าประเทศในภูมิภาคเดียวกัน
รวมทั้งจะต้องมีการพัฒนาคุณภาพสินค้าภายในกลุ่มประเทศอาเซียนให้ดีขึ้น
3. ประเทศในอาเซียนพยายามพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้า แต่ละประเทศพยายามส่งเสริม พัฒนา และคุ้มครองอุตสาหกรรมในประเทศตน
โดยการใช้กำแพงภาษีหรือกำหนดโควต้า
ซึ่งสวนทางกับหลักการในการรวมกลุ่มและตลาดการค้าเสรี
ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกมารวมกลุ่มกันต้องยกเลิกข้อเลือกปฏิบัติทางการค้าระหว่างประเทศเพื่อก่อให้เกิดการค้าเสรี
(Free Trade) ดังนั้นข้อตกลงใน AFTA ของอาเซียนหลายข้อจึงยังไม่ได้รับการปฏิบัติ
4. ประเทศสมาชิกยังคงปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติของตนเป็นหลัก และการหารายได้เข้าของรัฐประเทศในอาเซียนมีลักษณะเหมือนกัน
คือรายได้หลักของประเทศมาจากการเก็บภาษีศุลกากรสินค้าขาเข้าและขาออก
ซึ่งการรวมกลุ่มเป็นประชาคมอาเซียนให้ยกเลิกการเก็บภาษีระหว่างกันหรือเก็บภาษีให้น้อยลง
แต่ประเทศสมาชิกไม่สามารถสละรายได้ในส่วนนี้ได้
เนื่องจากเป็นเงินที่ต้องนำมาพัฒนาประเทศ
การรวมกลุ่มเพื่อให้เกิดการค้าเสรีระหว่างประเทศในภาคีจึงยังทำได้ยาก
5. ความแตกต่างกันทางการเมืองและการปกครอง กฎบัตรอาเซียนได้กำหนดไว้ชัดเจนถึงหลักการประชาธิปไตยและให้ประเทศสมาชิกยึดมั่นต่อรัฐบาลที่มาจากวิถีทางรัฐธรรมนูญ
การสร้างประชาคมความมั่นคงอาเซียนก็จะช่วยยกระดับความร่วมมือในการส่งเสริมประชาธิปไตยของแต่ละประเทศอันมีผลต่อความสงบเรียบร้อยทางการเมืองในภูมิภาคด้วย
แต่การปกครองของประเทศสมาชิกอาเซียนมีหลากหลายรูปแบบ ประกอบด้วย
5.1 แบบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา มี 4 ประเทศ คือ ไทย
กัมพูชา สิงคโปร์ และ มาเลเซีย
5.2 ประชาธิปไตยในระบบประธานาธิบดี 2 ประเทศ คือ
อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
5.3 เผด็จการสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ 2 ประเทศ คือ
ลาวและเวียดนาม
5.4 เผด็จการทหาร 1 ประเทศ คือ เมียนมาร์ หรือพม่า
5.5 สมบูรณาญาสิทธิราชย์ 1 ประเทศ คือ บรูไน
สมาชิกในกลุ่มอาเซียนมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
สมาชิกบางประเทศยังมีปัญหาด้านความเป็นประชาธิปไตย
และยังปกครองในรูปแบบเผด็จการและต้องการรักษาอำนาจของตนไว้
ทำให้อาเซียนพัฒนาได้อย่างยากลำบาก
6. ความขัดแย้งระหว่างประเทศอาเซียน ประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนยังมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศอยู่
เช่น ปัญหาพรมแดนระหว่างประเทศไทย – กัมพูชา ปัญหาพรมแดนระหว่าง
มาเลเซีย – ฟิลิปปินส์ – อินโดนีเซีย
7. ความแตกต่างด้านสังคมและวัฒนธรรม ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นดินแดนซึ่งมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ
ศาสนา โดยสามารถแบ่งกลุ่มประเทศตามศาสนาที่ประชากรส่วนใหญ่ ของประเทศนับถือได้
ดังนี้
- ประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม คือ บูรไน อินโดนีเซีย
และมาเลเซีย
- ประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ คือ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม
สิงคโปร์ และประเทศไทย
- ส่วนในฟิลิปปินส์ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์
นอกเหนือจากความแตกต่างทางศาสนาแล้ว
ปัญหาชนกลุ่มน้อยที่มีจำนวนมาก ซึ่งแน่นอนว่าย่อมจะมีความแตกต่างทางความเชื่อ
วิถีชีวิต ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม ก็เป็น
อุปสรรคต่อการหลอมรวมสร้างความเป็นหนึ่งเดียว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น