วันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ความสำคัญของกฎบัตรอาเซียนต่อประเทศไทย


ความสำคัญของกฎบัตรอาเซียนต่อประเทศไทย
กฎบัตรอาเซียน ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามพันธกรณีต่างๆ ของประเทศสมาชิก ซึ่งจะช่วยสร้างเสริมหลักประกันให้กับไทยว่า จะสามารถได้รับผลประโยชน์ตามที่ตกลงกันไว้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย นอกจากนี้ การปรับปรุงการดำเนินงานและโครงสร้างองค์กรของอาเซียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการเสริมสร้างความร่วมมือในทั้ง 3 เสาหลักของประชาคมอาเซียนจะเป็นฐานสำคัญที่จะทำให้อาเซียนสามารถตอบสนองต่อความต้องการและผลประโยชน์ของรัฐสมาชิก รวมทั้งยกสถานะและอำนาจต่อรอง และภาพลักษณ์ของประเทศสมาชิกในเวทีระหว่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะเอื้อให้ไทยสามารถผลักดันและได้รับผลประโยชน์ด้านต่างๆ เพิ่มมากขึ้นด้วย ตัวอย่างเช่น
- อาเซียนขยายตลาดให้กับสินค้าไทยจากประชาชนไทย 60 ล้านคน เป็นประชาชนอาเซียนกว่า 550 ล้านคน ประกอบกับการขยายความร่วมมือเพื่อเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เส้นทางคมนาคม ระบบไฟฟ้า โครงข่ายอินเตอร์เน็ต ฯลฯ จะช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้กับไทย
นอกจากนี้ อาเซียนยังเป็นทั้งแหล่งเงินทุนและเป้าหมายการลงทุนของไทย และไทยได้เปรียบประเทศสมาชิกอื่นๆ ที่มีที่ตั้งอยู่ใจกลางอาเซียน สามารถเป็นศูนย์กลางทางการคมนาคมและขนส่งของประชาคม ซึ่งมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ และบุคคล ระหว่างประเทศสมาชิกที่สะดวกขึ้น
- อาเซียนช่วยส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อเผชิญกับภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง เช่น SARs ไข้หวัดนก การค้ามนุษย์ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ หมอกควัน ยาเสพติดปัญหาโลกร้อน และปัญหาความยากจน เป็นต้น
- อาเซียนจะช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองของไทยในเวทีโลก และเป็นเวทีที่ไทยสามารถใช้ในการผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาของเพื่อนบ้านที่กระทบมาถึงไทยด้วย เช่น ปัญหาพม่า ในขณะเดียวกันความสัมพันธ์พหุภาคีในกรอบอาเซียนจะเกื้อหนุนความสัมพันธ์ของไทยในกรอบทวิภาคี เช่น ความร่วมมือกับมาเลเซียในการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ด้วย

โครงสร้างและกลไกการดำเนินงานขององค์กรของอาเซียน
กฎบัตรอาเซียน ซึ่งเปรียบเสมือนกฎหมายสูงสุดของอาเซียน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2551 เป็นเอกสารหลักที่กำหนดโครงสร้างองค์กรของอาเซียน ไว้ในหมวดที่ 4 ดังนื้
1. ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit)
ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ประกอบด้วย ประมุขหรือหัวหน้ารัฐบาล มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายสูงสุดและแนวทางความร่วมมือของอาเซียน และตัดสินใจในเรื่องสำคัญ โดยให้ประเทศสมาชิกซึ่งเป็นประธานอาเซียนเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 2 ครั้งต่อปี หรือเรียกประชุมพิเศษหรือเฉพาะกิจเมื่อมีความจำเป็น
2. คณะมนตรีประสานงานอาเซียน (ASEAN Coordinating Councils : ACCs)
คณะมนตรีประสานงานอาเซียน ประกอบด้วยรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียน ทำหน้าที่เตรียมการประชุมสุดยอดอาเซียน ประสานงานความตกลงและข้อตัดสินใจของที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ประสานงานระหว่าง 3 เสาหลัก ดูแลการดำเนินงานและกิจการต่างๆ ของอาเซียนในภาพรวม คณะมนตรีประสานงานอาเซียนจะมีการประชุมกันอย่างน้อย 2 ครั้งต่อปี
3. คณะมนตรีประชาคมอาเซียน (ASEAN Community Councils)
คณะมนตรีประชาคมอาเซียนประกอบด้วย คณะมนตรีประชาคม 3 เสาหลัก อันได้แก่คณะมนตรีการเมืองและความมั่นคงอาเซียน คณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ซึ่งเป็นผู้แทนที่ประเทศสมาชิกแต่งตั้งให้เป็นผู้รับผิดชอบแต่ละเสาหลัก มีอำนาจหน้าที่ในการประสานงานและติดตามการทำงานตามนโยบาย โดยเสนอรายงานและข้อเสนอแนะต่อที่ประชุมผู้นำ มีการประชุมอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ประธานการประชุมเป็นรัฐมนตรีที่เหมาะสมจากประเทศสมาชิกซึ่งเป็นประธานอาเซียน
4. องค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขา (ASEAN Sectoral Ministerial Bodies)
องค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขา(เช่น ด้านสาธารณสุข ด้านกลาโหม ด้านการศึกษา ฯลฯ) ประกอบด้วยรัฐมนตรีเฉพาะสาขา มีหน้าที่ปฏิบัติตามข้อตกลงและข้อตัดสินใจของที่ประชุมสุดยอดอาเซียนที่อยู่ในขอบข่ายการดำเนินงานของตน และเสริมสร้างความร่วมมือในสาขาของแต่ละองค์กรให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อสนับสนุนการรวมตัวของประชาคมอาเซียน
5. เลขาธิการอาเซียนและสำนักเลขาธิการอาเซียน (Secretary-General of ASEAN and ASEAN Secretariat)
สำนักเลขาธิการอาเซียนได้จัดตั้งขึ้นตามข้อตกลงที่ลงนามโดยรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 1 ในปี 2519 เพื่อทำหน้าที่ประสานงานและดำเนินงานตามโครงการและกิจกรรมต่างๆ ของสมาคมอาเซียน และเป็นศูนย์กลางในการติดต่อระหว่างสมาคมอาเซียน คณะกรรมการ ตลอดจนสถาบันต่าง ๆ และรัฐบาลของประเทศสมาชิกสำนักเลขาธิการอาเซียนตั้งอยู่ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โดยมีหัวหน้าสำนักงาน เรียกว่า เลขาธิการอาเซียน” (ASEAN Secretary-General) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียน โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี และต้องได้รับเลือกจากคนชาติของรัฐสมาชิก โดยหมุนเวียนตามลำดับตัวอักษร ผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนคนปัจจุบันเป็นคนไทย คือ ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ ซึ่งมีวาระดำรงตำแหน่งระหว่างปี ค.ศ. 2008-2012 (พ.ศ. 2551-2555)
6. คณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน (Committee of Permanent Representatives to ASEAN)
คณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน เป็นผู้แทนระดับเอกอัคราชฑูตที่แต่งตั้งจากประเทศสมาชิกให้ประจำที่สำนักงานใหญ่อาเซียน กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย มีหน้าที่สนับสนุนการทำงานของคณะมนตรีประชาคมอาเซียนและองค์กรระดับ รัฐมนตรีเฉพาะสาขา ประสานงานกับเลขาธิการสำนักงานอาเซียนและสำนักงานเลขาธิการอาเซียนในเรื่องที่เกี่ยวข้อง และประสานงานกับสำนักงานเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติและองค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขา
7. สำนักงานอาเซียนแห่งชาติ หรือกรมอาเซียน (ASEAN National Secretariat)
เป็นหน่วยงานระดับกรมในกระทรวงการต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งแต่ละประเทศได้จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบประสานงาน สนับสนุนภารกิจและความร่วมมือต่าง ๆ เกี่ยวกับอาเซียนในประเทศนั้น ๆ สำหรับประเทศไทยหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ
8. องค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน (ASEAN Human Rights Body)
เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยความประสงค์และหลักการของกฎบัตรอาเซียนเกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งคณะทำงานและอำนาจหน้าที่จะได้กำหนดโดยที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนต่อไป
9. มูลนิธิอาเซียน (ASEAN Foundation)
มูลนิธิอาเซียนสนับสนุนเลขาธิการอาเซียนและดำเนินการร่วมกับองค์กรของอาเซียนที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียน โดยการส่งเสริมความสำนึกที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของอาเซียน การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน การดำเนินงานร่วมกันที่ใกล้ชิดระหว่างภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ในอาเซียน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น